พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” หมายความว่า การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

“ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 5 ผู้มีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภาต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่เสนอร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 11 หรือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 16 แล้วแต่กรณี และมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน

การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน

มาตรา 6 การเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กระทำได้เฉพาะที่มีหลักการเกี่ยวกับหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำตามรูปแบบการเสนอร่างพระราชบัญญัติ แบ่งเป็นมาตราที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่ามีความประสงค์จะตรากฎหมายในเรื่องใด และต้องประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้

(1) ร่างพระราชบัญญัติ

(2) บันทึกหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ

(3) บันทึกเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ

(4) บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

มาตรา 7 การจัดทำร่างพระราชบัญญัติและเอกสารตามมาตรา 6 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดจะเป็นผู้ดำเนินการจัดทำเองก็ได้ หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกันไม่น้อยกว่ายี่สิบคนจะเข้าชื่อร้องขอ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดทำให้ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนดโดยความเห็นชอบของประธานรัฐสภา

ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดทำร่างพระราชบัญญัติพร้อมทั้งเอกสารตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้ร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ระยะเวลาดังกล่าวประธานสภาผู้แทนราษฎรจะขยายให้เป็นกรณีไปก็ได้ แต่เมื่อรวมระยะเวลาที่ขยายแล้วต้องไม่เกินเก้าสิบวัน

มาตรา 8 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง หรือไม่ก็ตาม ถ้ารวมกันได้ไม่น้อยกว่ายี่สิบคนและประสงค์จะเป็นผู้เชิญชวนตามวรรคสาม ให้เสนอร่างพระราชบัญญัติและเอกสารตามมาตรา 6 พร้อมทั้งเอกสารที่แสดงรายชื่อของบุคคลดังกล่าว เลขประจำตัวประชาชนของแต่ละคน พร้อมลงลายมือชื่อผู้เสนอทุกคน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา

ในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งมีเนื้อหาเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ให้แจ้งเป็นหนังสือให้บุคคลตามวรรคหนึ่งทราบเพื่อดำเนินการตามวรรคสามต่อไป หากเห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีเนื้อหาไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ให้แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือพร้อมทั้งส่งเรื่องคืน ทั้งนี้ ให้แจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารตามวรรคหนึ่งครบถ้วน

ในกรณีที่ได้รับแจ้งจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการต่อไปได้ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อร่วมกันตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นให้ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นได้

การเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ร่วมเข้าชื่อตามวรรคสามจะกระทำเป็นหนังสือหรือเชิญชวนผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ต้องดำเนินการให้ผู้ซึ่งร่วมเข้าชื่อนั้นสามารถเข้าถึงเอกสารตามมาตรา 6 วรรคสอง ได้ด้วย

การร่วมเข้าชื่อต้องมีหลักฐานแสดงชื่อ ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชนของผู้ร่วมเข้าชื่อ และข้อความที่แสดงให้เห็นว่าตนสมัครใจเข้าร่วมในการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น พร้อมทั้งลงลายมือชื่อและส่งไปยังสถานที่หรือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้เชิญชวนกำหนดไว้ในหนังสือเชิญชวนหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามวรรคสี่

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้เชิญชวนตามวรรคสามอาจร้องขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อในการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ตามความประสงค์ โดยต้องเผยแพร่การเชิญชวนให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และเมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักฐานการร่วมเข้าชื่อในการเสนอร่างพระราชบัญญัติครบหนึ่งหมื่นคนแล้ว ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เชิญชวนซึ่งเป็นผู้ร้องขอทราบ เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 11 ทั้งนี้ ในกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถยืนยันตัวบุคคลและตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวให้กระทำได้โดยไม่ต้องลงลายมือชื่อ

ในการดำเนินการตามวรรคหก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอาจร้องขอให้สถาบันพระปกเกล้าให้การสนับสนุนและช่วยเหลือด้วยก็ได้

หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการตามวรรคสอง และวรรคหก ให้เป็นไปตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนดโดยความเห็นชอบของประธานรัฐสภา

มาตรา 9 ในระหว่างการเชิญชวนให้มีการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ ห้ามมิให้มีการแก้ไขหลักการหรือข้อความในร่างพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อความผิดพลาดที่มิใช่สาระสำคัญ

มาตรา 10 ในกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 8 วรรคหก ถ้าพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอยังมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติไม่ถึงหนึ่งหมื่นคน ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้ผู้เชิญชวนซึ่งเป็นผู้ร้องขอทราบเพื่อดำเนินการให้มีผู้ร่วมเข้าชื่อให้ครบตามจำนวนดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ยังได้ผู้เข้าชื่อไม่ครบจำนวน ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เชิญชวนซึ่งเป็นผู้ร้องขอทราบ และให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยุติการดำเนินการต่อไป

มาตรา 11 เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 8 มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน ให้ผู้เชิญชวนอย่างน้อยหนึ่งคนทำหนังสือนำส่งร่างพระราชบัญญัติ พร้อมด้วยเอกสารตามมาตรา 6 วรรคสอง หลักฐานการเข้าชื่อของผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ และรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนแต่ไม่เกินสามสิบคนที่ให้เป็นผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา 8 วรรคหก การดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการเข้าชื่อของผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ แต่ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรออกหนังสือรับรองความถูกต้องและครบถ้วนของการเข้าชื่อแทนหลักฐานดังกล่าว

มาตรา 12 เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับหนังสือเสนอร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 11 แล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่ามีหลักการและเอกสารหลักฐานครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวัน หากปรากฏว่ามีหลักการหรือเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้เชิญชวนเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดต่อไป ถ้าเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนและเมื่อดำเนินการตามมาตรา 13 แล้ว ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

การตรวจสอบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามวิธีการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนดโดยความเห็นชอบของประธานรัฐสภา

ถ้าผู้เชิญชวนมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรยุติการดำเนินการและส่งเรื่องคืนให้ผู้เชิญชวน

ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามมาตรา 11 เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้คำรับรอง

ในกรณีที่มีการตรวจพบว่ามีการปลอมลายมือชื่อ เมื่อหักลายมือชื่อปลอมดังกล่าวออกแล้วยังมีผู้เข้าชื่อครบจำนวน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไปได้

ในกรณีที่ผู้ร่วมเข้าชื่อถอนการเข้าชื่อหรือตายภายหลังจากที่ได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 11 แล้ว ให้ถือว่าการเข้าชื่อของผู้นั้นยังคงมีผลอยู่

มาตรา 13 ก่อนประธานสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 วรรคหนึ่ง ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนั้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอรัฐสภาพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อประกอบการพิจารณา

มาตรา 14 บรรดาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามพระราชบัญญัตินี้และต้องตกไปเพราะเหตุอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปมิได้ร้องขอให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถ้าภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 11 ยืนยันเป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อไป ให้ถือว่าเป็นการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 15 การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้

มาตรา 16 ให้นำความในมาตรา 6 วรรคสอง มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14 มาใช้บังคับกับการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเข้าชื่อร้องขอตามมาตรา 7 ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบคน

(2) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้เสนอต่อประธานรัฐสภาและหน้าที่และอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา

(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 10 ยังมีจำนวนไม่ถึงห้าหมื่นคน

(4) ในส่วนที่เกี่ยวกับรายชื่อของผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ให้เสนอได้ไม่เกินสิบคน

มาตรา 17 ผู้ใดกระทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลสั่ง

มาตรา 18 การเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 และยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 19 ให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี